การท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยไม่ทำลายหรือรบกวนที่อยู่อาศัย เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบไปยังพื้นที่ธรรมชาติอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น จุดประสงค์อาจเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เดินทางจัดหาทุนเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศเพื่อประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเสริมสร้างอำนาจทางการเมืองของชุมชนท้องถิ่นหรือเพื่อส่งเสริมความเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันและเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 การท่องเที่ยวเชิงนิเวศถือเป็นความพยายามที่สำคัญของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้สัมผัสกับจุดหมายปลายทางที่ไม่ถูกแตะต้องโดยการแทรกแซงของมนุษย์

องค์ประกอบหลักของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

  1. องค์ประกอบด้านพื้นที่ เป็นลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การมุ่งเน้นในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อประสานการท่องเที่ยวกับความพอใจในการเรียนรู้และสัมผัสกับระบบนิเวศ (Eco-system) อาจมีบางแห่งที่รวมเอาลักษณะวัฒนธรรมที่มีวิถีชีวิตแบบธรรมชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ไว้(Nature-based tourism) โดยเฉพาะแม้ว่าจะมีความคาบเกี่ยวกันในพื้นที่ก็ตาม ในทำนองเดียวกันการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ (Natural tourism) จึงไม่ใช่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศทั้งหมด ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการจัดการการท่องเที่ยวนั้นๆด้วย อาจเป็นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น (Identity or Authentic or Endemic or Unique) ธรรมชาตินั้นอาจรวมถึงแหล่งวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบนิเวศ(Eco-system) ในพื้นที่ด้วย
  2. องค์ประกอบด้านการจัดการ เป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsible travel) โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น ซึ่งมีการจัดการที่ยั่งยืนครอบคลุมไปถึงการอนุรักษ์ทรัพยากร การจัดการสิ่งแวดล้อม การป้องกันและกำจัดมลพิษ และควบคุมการพัฒนา การท่องเที่ยวอย่างมีขอบเขตจึงเป็นการท่องเที่ยวที่มีการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustain ably managed tourism)เพื่อให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบ (Responsibly travel) ที่ไม่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น
  3. องค์ประกอบด้านกิจกรรมและกระบวนการ เป็นการท่องเที่ยวที่มีกระบวนการเรียนรู้ (Learning process) โดยมีการให้การศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศของแหล่งท่องเที่ยวเป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ ความประทับใจ เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ถูกต้องกับผู้เกี่ยวข้อง นักท่องเที่ยว ประชาชนท้องถิ่น และผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จึงเป็นการท่องเที่ยวด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา(Environmental education-based tourism)
  4. องค์ประกอบด้านการมีส่วนร่วม เป็นการท่องเที่ยวที่มีการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนท้องถิ่นหรือชุมชนท้องถิ่น (Involvement of local community or People participation) ที่มีบทบาทในส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติตามแผน และร่วมได้รับประโยชน์อย่างเสมอภาค คอยติดตามตรวจสอบ รวมถึงร่วมบำรุงรักษาทรัพยากรท่องเที่ยวอันจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในท้องถิ่น ทั้งการกระจายรายได้ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการได้รับผลตอบแทน เพื่อนำกลับมาบำรุงรักษาและจัดการแหล่งท่องเที่ยวด้วย ในที่สุดแล้วท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ